สำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์
Office of Customs Affairs, Royal Thai Embassy Brussels
 

ประวัติสำนักงาน


ประเทศไทยได้นำระบบพิกัดอัตราศุลกากรสากลมาใช้เป็นกฎหมายพิกัดอัตราศุลกากร ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2503 ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2515 ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร (The Customs Cooperation Council: CCC) ดังนั้นเพื่อการดำเนินงานประสานภารกิจด้านศุลกากรให้เกิดประสิทธิภาพ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่  9 มกราคม 2522 ให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ศุลกากรไปประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์  ภายหลังได้จัดตั้งสำนักงานศุลกากรในต่างประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2522

ก่อนปี พ.ศ. 2540 กรมศุลกากรมีเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำการในสำนักงานต่างประเทศ ได้แก่ 1)เมืองฮ่องกง 2) สิงคโปร์ 3) กรุงวียงจันทร์ ลาว 4) กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น และ 5) กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ต่อมามีการปิดสำนักงานฯ ณ สิงคโปร์ และลาว ด้วยเหตุผลและความจำเป็นในยุคนั้น

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2541 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อพิจารณาปรับลดบุคลากรและปิดสำนักงานของไทยในต่างประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังปิดสำนักงานในต่างประเทศทั้งหมด  7 แห่ง ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 3 แห่ง (กรุงโตเกียว กรุงลอนดอน และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี) และกรมศุลกากร 4 แห่ง (กรุงบรัสเซลส์ เมืองฮ่องกง กรุงโตเกียว และประเทศสิงค์โปร์) ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2541 กระทรวงการคลังได้มีหนังสือขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้คงสำนักงานฝ่ายเศรษฐกิจการคลังทั้งหมด 3 แห่ง (กรุงวอชิงตัน กรุงลอนดอน และกรุงโตเกียว) และสำนักงานฝ่ายศุลกากร 2 แห่ง (กรุงบรัสเซลส์ และเมืองฮ่องกง) 

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขมติคณะมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2541 โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคงภารกิจที่กรุงลอนดอน และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี และให้คงสำนักงานชั่วคราวที่กรุงโตเกียว และให้กรมศุลกากรคงภารกิจที่กรุงบรัสเซลส์ และเมืองฮ่องกง  

ในปี พ.ศ. 2550 รัฐบาลเห็นว่า จำเป็นต้องมีหน่วยงานศุลกากรในจีน เพื่อช่วยแก้ปัญหาผลไม้ที่นำเข้าจากไทยถูกกักโดยศุลกากรจีน หากแต่มีการตัดสินใจว่า ปัญหาการกักผลไม้ของศุลกากรจีนเกิดขึ้นที่นครกวางโจว จึงทำให้มีศุลกากรสำนักงานสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกวางโจว 

ยุคเริ่มต้นของสำนักงานฯ ได้จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2522 (ปี 2522-2533 ตั้งอยู่ ณ อาคารเลขที่ 41 Avenue du Peru) โดยได้จัดเช่าอาคารเป็นที่ทำงานของสำนักงาน และที่พักอาศัย โดยใช้ชื่อว่า "สำนักงานศุลกากรประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ (Office of Customs Attaché)" ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2533 ได้ทำสัญญาซื้ออาคาร 2 ห้อง เป็นสำนักงาน และที่พักอาศัยของหัวหน้าสำนักงานฯ (อัครราชทูต ระดับ 9) ซึ่งใช้ชื่อว่า "สำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากรประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ (Office of Customs Affairs)" ตั้งอยู่ถนน Dreve du Rembucher เลขที่ 87-89, 1170 จนกระทั่งปัจจุบัน

พื้นที่รับผิดชอบ : ประเทศเบลเยียม และประเทศในภูมิภาคยุโรป  
อัตรากำลัง : ข้าราชการ 3 อัตรา และ
ลูกจ้างท้องถิ่น 2 อัตรา (ผู้ช่วยดำเนินการด้านศุลกากร และพนักงานขับรถ)  และ
เจ้าหน้าที่โครงการ Customs Policy Monitoring Unit 1 อัตรา


 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 13 มกราคม 2566 15:39:34

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของสำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์
ลิขสิทธิ์ ? 2015 สำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์ สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ