สำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์
Office of Customs Affairs, Royal Thai Embassy Brussels
 

องค์การศุลกากรโลก

รู้จักองค์การศุลกากรโลก

องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) ก่อตั้งเมื่อ 26 มกราคม พ.ศ. 2496 เริ่มต้นใช้ชื่อว่า “คณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร” (Customs Cooperation Council: CCC) โดยถือได้ว่า เป็นการรวมกลุ่มรัฐบาลระหว่างประเทศ มีหน้าที่ในการเสริมสร้างและสนับสนุนการดำเนินงานและการบริหารงานของศุลกากรประเทศสมาชิกต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ

องค์การศุลกากรโลกมีสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกรวม 185 ประเทศ โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การศุลกากรโลกเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515

เลขาธิการองค์การศุลกากรโลกคนปัจจุบัน คือ Mr. Ian Saunders

องค์การศุลกากรโลกมีหน้าที่สำคัญในการพัฒนาและบริหารเครื่องมือเพื่อปรับปรุงพิธีการและระบบงานศุลกากรสำหรับเคลื่อนย้ายสินค้าและคนระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกัน อาทิ อนุสัญญาการจำแนกประเภทและกำหนดรหัสสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonized Commodity Description and Coding System) อนุสัญญาเกียวโตฉบับปรับปรุง (Revised Kyoto Convention: RKC) อนุสัญญาอิสตันบูล (Istanbul Convention) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องทำหน้าที่ในการพัฒนามาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศมีความปลอดภัย ช่วยเหลือประเทศสมาชิกปรับปรุงระบบงานศุลกากรให้ทันสมัย ส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างศุลกากรประเทศต่างๆ และระหว่างศุลกากรกับภาคเอกชน และจัดให้มีการฝึกอบรมสำหรับภาคเอกชน ตั้งแต่องค์การศุลกากรโลกก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2493 ในชื่อ “คณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร” (Customs Cooperation Council: CCC) นั้น ได้มีการจัดทำเครื่องมือต่างๆ มาให้ประเทศสมาชิกนำมาถือปฏิบัติเพื่อปรับปรุงระบบงานศุลกากรให้ทันสมัยและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งโลกจำนวนมากมาย ในการนี้ องค์การศุลกากรโลกได้จำแนกเครื่องมือสำหรับช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไว้ ดังนี้

 

ลำดับที่

เครื่องมือขององค์การศุลกากรโลก

 

CORE PRINCIPLE

1

International Convention on the Simplification and Harmonization of Customs Procedures (Kyoto Convention) as amended (Revised Kyoto Convention (RKC)

2

Guidelines to the RKC

 

PRIME TEXT

3

Convention on Temporary Admission (Istanbul Convention)

4

Customs Convention on Containers, 1972

5

Customs Convention on the ATA Carnet for the Temporary Admission of Goods (ATA Convention)

6

International Convention on Mutual Administrative Assistance for the Prevention, Investigation and Repression of Customs Offences (Nairobi Convention)

7

SUPPORTING TOOLS AND INSTRUMENTS

 

(1) กลุ่มที่ 1 คือ เครื่องมือหลัก (Core Principle) ประกอบด้วย อนุสัญญาเกียวโตฉบับปรับปรุง (Revised Kyoto Convention: RKC) และแนวปฏิบัติของอนุสัญญาเกียวโตฉบับปรับปรุง (Guidelines to RKC) อนุสัญญาเกียวโตฉบับปรับปรุง มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “International Convention on the Simplification and Harmonization of Customs Procedures” หรือ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการพิธีการศุลกากรให้ง่ายและสอดคล้องกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อ

• ปรับปรุงพิธีการและวิธีปฏิบัติทางศุลกากรของประเทศต่างๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศให้ง่าย สอดคล้องกัน และทันสมัยอย่างต่อเนื่อง

• ตอบสนองต่อความต้องการของการค้าระหว่างประเทศและศุลกากรในการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ต้องการลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีศุลกากร

• ให้มีมาตรฐานที่เหมาะสมในการควบคุมทางศุลกากรและมีการนำเทคนิคที่ทันสมัยมาใช้ในการควบคุมและอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมโดยการตรวจสอบและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

• ให้ศุลกากรสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านวิธีการและเทคนิคของการบริหารงานและของธุรกิจ

• ลดค่าใช้จ่ายของภาคเอกชน

อนุสัญญาเกียวโตฉบับปรับปรุงประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 

ส่วนแรก ตัวบทอนุสัญญา (Body of the Convention) เป็นบทบัญญัติขั้นพื้นฐานที่สะท้อนให้เห็นวัตถุประสงค์และหลักการของอนุสัญญา ประกอบไปด้วย บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ดังนี้

• อารัมภบท

• ขอบเขตและโครงสร้าง

• การบริหารจัดการ

• กฎเกณฑ์ในการเข้าเป็นภาคี

• กฎเกณฑ์ในการแก้ไขปรับปรุง

ส่วนที่สอง คือ ภาคผนวกทั่วไป (General Annex) เป็นบทบัญญัติที่สะท้อนให้เห็นถึงหน้าที่หลักของศุลกากรตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานและมาตรฐานช่วงปรับเปลี่ยนซึ่งมีฐานะทางกฎหมายเท่ากัน การนำมาตรฐานและมาตรฐานช่วงปรับเปลี่ยนไปใช้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการปรับพิธีการศุลกากรและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้ง่ายและสอดคล้องกัน ความแตกต่างระหว่างมาตรฐานและมาตรฐานช่วงปรับเปลี่ยน คือ มาตรฐานช่วงปรับเปลี่ยนจะมีระยะเวลาในการนำไปปฏิบัติที่ยาวกว่า โดยมาตรฐานจะต้องนำไปปฏิบัติภายใน 36 เดือน ขณะที่มาตรฐานช่วงปรับเปลี่ยนจะต้องนำไปปฏิบัติภายใน 60 เดือน ระยะเวลาในช่วงปรับเปลี่ยนได้กำหนดไว้เพื่ออำนวยความสะดวกต่อประเทศภาคีคู่สัญญาในการยอมรับหรือการภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้ และเพื่อให้เวลาในการปรับเปลี่ยนพิธีการและวิธีปฏิบัติของตนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้ ภาคผนวกทั่วไปจะประกอบไปด้วยบทบัญญัติทั้งสิ้น 10 ตอน ดังนี้

• บทที่ 1 หลักการทั่วไป (General Principles)

• บทที่ 2 คำจำกัดความ (Definitions)

• บทที่ 3 การตรวจปล่อยและพิธีศุลกากรอื่น (Clearance and Other Customs Formalities)

• บทที่ 4 ค่าภาษีอากร (Duties and Taxes)

• บทที่ 5 การวางหลักประกัน (Security)

• บทที่ 6 การควบคุมทางศุลกากร (Customs Control)

• บทที่ 7 การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ (Application of Information Technology)

• บทที่ 8 ความสัมพันธ์ระหว่างศุลกากรและบุคคลที่สาม (Relationship between the Customs and Third Parties)

• บทที่ 9 ข้อมูล ข้อตัดสินใจ และคำวินิจฉัยที่จัดทำโดยศุลกากร (Information, Decisions and Rulings Supplied by the Customs)

• บทที่ 10 การอุทธรณ์เรื่องศุลกากร (Appeals in Customs Matters)

ส่วนที่สาม คือ ภาคผนวกเฉพาะ (Specific Annexes) เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับพิธีการศุลกากรเฉพาะด้าน ดังนั้น ในแต่ละภาคผนวกเฉพาะและบทในภาคผนวกจะเกี่ยวข้องกับวิธีปฏิบัติและพิธีการศุลกากรเฉพาะเรื่อง ประกอบไปด้วยบทบัญญัติทั้งสิ้น 10 ภาคผนวก ดังนี้

• ภาคผนวก เอ ว่าด้วยสินค้ามาถึงอาณาเขตศุลกากร (Annex A: Arrival of Goods in a Customs Territory)

• ภาคผนวก บี ว่าด้วยการนำเข้า (Annex B: Importation)

• ภาคผนวก ซี ว่าด้วยการส่งออก (Annex C: Exportation)

• ภาคผนวก ดี ว่าด้วยเขตปลอดอากรและคลังสินค้าศุลกากร (Annex D: Customs Warehouse & Free Zone)

• ภาคผนวก อี ว่าด้วยการผ่านแดน (Annex E: Transit)

• ภาคผนวก เอฟ ว่าด้วยการผ่านกระบวนการ (Annex F: Processing)

• ภาคผนวก จี ว่าด้วยการนำเข้าชั่วคราว (Annex G: Temporary Admission)

• ภาคผนวก เอช ว่าด้วยการกระทำผิด (Annex H: Offences)

• ภาคผนวก เจ ว่าด้วยพิธีการเฉพาะด้าน (Annex J: Special Procedures)

• ภาคผนวก เค ว่าด้วยกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด (Annex K: Origin)

สำหรับแนวปฏิบัติ (Guidelines) หมายถึง คำอธิบายรายละเอียดของมาตรฐาน มาตรฐานช่วงปรับเปลี่ยน วิธีปฏิบัติที่แนะนำที่มีอยู่ในบทบัญญัติของภาคผนวกทั่วไป ภาคผนวกเฉพาะและบทในภาคผนวกเฉพาะ ในอนุสัญญาเกียวโตฉบับแก้ไขจะมีแนวปฏิบัติอยู่ในทุกบทของภาคผนวกทั่วไปและภาคผนวกเฉพาะ อย่างไรก็ตาม แนวปฏิบัติเหล่านี้มิได้เป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาและไม่มีผลเป็นข้อบังคับทางกฎหมาย 

นอกจากคำอธิบายรายละเอียดแล้ว แนวปฏิบัติเหล่านี้ยังให้ตัวอย่างวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดหรือวิธีการนำพิธีการต่างๆ ไปใช้และพัฒนาในอนาคต นอกจากนี้ แนวปฏิบัติเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นว่า สิ่งใดที่หน่วยงานศุลกากรสามารถนำมาปฏิบัติให้บรรลุความสำเร็จได้ และมาตรการที่มีมากมายนั้นมีกลไกการทำงานอย่างไร ศุลกากรอาจรับและนำวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดซึ่งเหมาะสมกับบริบทเฉพาะของตนมากที่สุดไปปฏิบัติ แต่หากวิธีปฏิบัตินั้นครอบคลุมการปฏิบัติมากกว่าที่มาตรฐานกำหนดไว้ก็ถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกที่เพิ่มขึ้น

(2) กลุ่มที่ 2 คือ บทบัญญัติหลัก (Prime Text) ประกอบด้วยกลุ่มของอนุสัญญาที่อำนวยความสะดวกในการนำเข้าชั่วคราวและอนุสัญญาการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางศุลกากร ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงเฉพาะอนุสัญญาหลักที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ อนุสัญญาอิสตันบูล (Istanbul Convention) หรือที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Convention on Temporary Admission เป็นอนุสัญญาที่ว่าด้วยการนำเข้าชั่วคราวที่บูรณาการอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าชั่วคราวหลายๆ ฉบับมารวมกันไว้เป็นฉบับเดียว มีวัตถุประสงค์เพื่อ

• รวบรวมอนุสัญญาและความตกลงเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกการนำเข้าชั่วคราวที่กระจัดกระจายอยู่ให้มาเป็นอนุสัญญาการนำเข้าชั่วคราวฉบับเดียว

• ให้มีกรอบในการดำเนินการกับสินค้าประเภทใหม่ๆ ที่ต้องการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าชั่วคราว

• ปรับปรุงพิธีการนำเข้าชั่วคราวให้เรียบง่ายและสอดคล้องกัน

• ขยายขอบเขตการใช้เอกสาร เอ.ที.เอ. คาร์เนท์

สำหรับโครงสร้างของอนุสัญญาอิสตันบูลนั้น องค์การศุลกากรโลกได้กำหนดโครงสร้างโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 

ส่วนแรก ตัวบทอนุสัญญา (Body of the Convention) ซึ่งมีทั้งหมด 5 ตอน 34 มาตรา ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการนำเข้าชั่วคราวทั้งหมด ดังนี้

• คำนิยาม (Definitions)

• ขอบเขตของอนุสัญญา (Scope of the Convention)

• โครงสร้างของภาคผนวก (Structure of Annex)

• เอกสารและการค้ำประกัน (Document and Security)

• เอกสารการนำเข้าชั่วคราว (Temporary Admission Papers)

• การพิสูจน์ของ (Identification)

• ระยะเวลาในการส่งกลับ (Period for Re-exportation)

• การโอนการนำเข้าชั่วคราว (Transfer of Temporary Admission)

• การสิ้นสุดการนำเข้าชั่วคราว (Termination of Temporary Admission)

• การลดขั้นตอนพิธีการ (Reduction of Formalities)

• การอนุมัติล่วงหน้า (Prior Notification)

• การอำนวยความสะดวกขั้นต่ำที่สุด (Minimum Facilities)

• สหภาพศุลกากรหรือสหภาพเศรษฐกิจ (Customs or Economic Unions)

• ข้อห้ามและข้อกำกัด (Prohibitions and Restrictions)

• การกระทำความผิด (Offences)

• การแลกเปลี่ยนข้อมูล (Exchange of Information)

• คณะกรรมการบริหาร (Administrative Committee)

• การระงับข้อพิพาท (Settlement of Disputes)

• การลงนาม การให้สัตยาบัน และภาคยานุวัติ (Signature, Ratification and Accession)

• ผู้เก็บรักษา (Depository)

• การมีผลบังคับใช้ (Entry into Force)

• บทบัญญัติให้ยกเลิก (Rescinding Provision)

• อนุสัญญาและภาคผนวก (Convention and Annexes)

• การตั้งข้อสงวน (Reservations)

• การขยายอาณาเขต (Territorial Expansion)

• การประกาศเพิกถอน (Denunciation)

• ขั้นตอนการแก้ไข (Amendment Procedure)

• การยอมรับการแข้ไข (Acceptance of Amendments)

• การลงทะเบียนและต้นฉบับตัวบท (Registration and Authentic Texts)

ส่วนที่สอง คือ ภาคผนวก (Annexes) ซึ่งจะประกอบไปด้วยบทบัญญัติเกี่ยวกับเอกสารการนำเข้าชั่วคราว และประเภทของสิ่งของที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าชั่วคราวรวม 13 ภาคผนวก ดังนี้

• ภาคผนวกเอ เกี่ยวกับเอกสารการนำเข้าชั่วคราว (เอ.ที.เอ. คาร์เนท์ และ ซี.พี.ดี. คาร์เนท์) (Annex A Concerning Temporary Admission Papers: ATA Carnets and CPD Carnets)

• ภาคผนวกบี 1 เกี่ยวกับของสำหรับนำออกแสดงหรือใช้ในงานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า งานประชุม หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน (Annex B.1 Concerning Goods for Display or Use at Exhibitions, Fairs, Meetings or Similar Events)

• ภาคผนวกบี 2 เกี่ยวกับเครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพ (Annex B.2 Concerning Professional Equipment)

• ภาคผนวกบี 3 เกี่ยวกับคอนเทนเนอร์ แพลเลทส์ บรรจุภัณฑ์ ตัวอย่าง และของที่นำเข้าอื่นๆ เพื่อการพาณิชย์ (Annex B.3 Concerning Containers, Pallets, Packing, Samples and Other Goods Imported in Connection with a Commercial Operation)

• ภาคผนวกบี 4 เกี่ยวกับของที่นำเข้าเพื่อการผลิต (Annex B.4 Concerning Goods Imported in Connection with a Manufacturing Operation)

• ภาคผนวกบี 5 เกี่ยวกับของที่นำเข้าเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ หรือวัฒนธรรม (Annex B.5 Concerning Goods Imported for Education, Scientific or Cultural Purposes)

• ภาคผนวกบี 6 เกี่ยวกับของใช้ส่วนตัวผู้เดินทางและของที่นำเข้าเพื่อวัตถุประสงค์ด้านกีฬา (Annex B.6 Concerning Traveler’s Personal Effects and Goods Imported for Sports Purposes)

• ภาคผนวกบี 7 เกี่ยวกับวัตถุที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว (Annex B.7 Concerning Tourist Publicity Material)

• ภาคผนวกบี 8 เกี่ยวกับของที่นำเข้าตามบริเวณชายแดน (Annex B.8 Concerning Goods Imported as Frontier Traffic)

• ภาคผนวกบี 9 เกี่ยวกับของที่นำเข้าเพื่อวัตถุประสงค์ทางมนุษยธรรม (Annex B.9 Concerning Goods Imported for Humanitarian Purposes)

• ภาคผนวกซี เกี่ยวกับสิ่งที่ใช้ในการขนส่ง (Annex C Concerning Means of Transport)

• ภาคผนวกดี เกี่ยวกับสัตว์ (Annex D Concerning Animals)

• ภาคผนวกอี เกี่ยวกับของนำเข้าที่ได้รับการผ่อนปรนภาษีอากรนำเข้าบางส่วน (Annex E Concerning Goods Imported with Partial Relief from Import Duties and Taxes)

          (3) กลุ่มที่สาม คือ เครื่องมือสนับสนุน (Supporting Tools and Instruments) ประกอบด้วย คู่มือ (Handbook) แนวปฏิบัติ (Guide/Guideline) ประมวลข้อปฏิบัติ (Compendium) แถลงการณ์ (Declaration) ข้อเสนอแนะ (Recommendation) ฐานข้อมูล (Database) และมาตรฐานต่างๆ (Standards) ที่องค์การศุลกากรโลกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสนับสนุน เครื่องมือหลัก (Core Principles)


ประเทศไทย ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาขององค์การศุลกากรโลก รวมทั้งสิ้น ๘ ฉบับ ได้แก่

1. Convention establishing the Customs Cooperation Council (อนุสัญญาจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร)

2. Convention on Harmonized Commodity Description and Coding System (อนุสัญญาว่าด้วยระบบฮาร์โมไนซ์)

3. Customs Convention on Temporary Importation of Professional Equipment (อนุสัญญาศุลกากรว่าด้วยการนำข้าชั่วคราวเครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพ)

4. Customs Convention concerning Facilitation for the Importation of Goods for Display or Use at Exhibitions, Fairs, Meetings or Seminar Events (อนุสัญญาศุลกากรเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกสำหรับการนำของเข้าเพื่อออกแสดงหรือใช้ในนิทรรศการ งานแสดงสินค้า งานประชุม หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน)

5. Customs Convention on the ATA Carnet for the Temporary Admission of Goods (ATA Carnet) (อนุสัญญาศุลกากรว่าด้วยเอกสารค้ำประกันการนำเข้าชั่วคราว เอ.ที.เอ คาร์เนต์)

6. Customs Convention on the Temporary Importation of Scientific Equipment (อนุสัญญาศุลกากรว่าด้วยการนำบริภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์เข้าชั่วคราว)

7. Convention on Temporary Admission (Istanbul Convention) (อนุสัญญาว่าด้วยการนำของเข้าชั่วคราว)

8. International Convention on the Simplification and Harmonization of Customs Procedure (Kyoto Convention as amended) (อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพิธีการศุลกากรที่เรียบง่านยและสอดคล้องกัน (อนุสัญญาระหว่างประเทศเกียวโต ฉบับแก้ไข)

 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 11 เมษายน 2567 18:44:36

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของสำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์
ลิขสิทธิ์ ? 2015 สำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์ สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ