สำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์
Office of Customs Affairs, Royal Thai Embassy Brussels
 

ข่าวสาร

Customs Policy Monitoring Unit (CPMU)

แหล่งข้อมูลของสำนักงาน

สถิติการเข้าชมเว็บ

  • 9 เข้าชมวันนี้
  • 596 เข้าชมเดือนนี้
  • 87,240 เข้าชมทั้งหมด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
สำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์
เบอร์โทรศัพท์ : +32-2-660-5759, 5835 โทรสาร : +322-675-2649

การประชุม Council Session ครั้งที่ ๑๓๒

การประชุมคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร (Customs Co-operation Council Session) ครั้งที่ ๑๓๒ ซึ่งเป็นประชุมระดับสูงสุดของ WCO จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๑ ณ สำนักงานใหญ่องค์การศุลกากรโลก กรุงบรัสเซลส์ โดยมี Mr. Enrique Canon อธิบดีศุลกากรอุรุกวัยเป็นประธานการประชุม และอธิบดีศุลกากรสมาชิก WCO จำนวน ๑๘๒ ราย เข้าร่วมการประชุม


ในโอกาสนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร นายนิติ วิทยาเต็ม อัครราชทูต (ฝ่ายศุลกากร) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ นายวรพัฒน์ เชาว์วิศิษฐ ผู้อำนวยการสำนักแผนและการต่างประเทศ และคณะฯ ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

ที่ประชุมฯ อภิปรายหารือ ๖ เรื่องหลัก ได้แก่ ๑) การอำนวยความสะดวกทางการค้า และโครงการ Mercator เพื่อช่วยเหลือสมาชิก WCO ในการบังคับใช้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (WTO) ๒) การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และข้อท้าทายที่ศุลกากรเผชิญ รวมทั้งการรับรอง Framework of Standards on Cross-Border E-Commerce ๓) ความมั่นคง โดยเฉพาะโครงการริเริ่มต่าง ๆ ของ WCO ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความสำคัญของความร่วมมือในระดับภูมิภาค ๔) การเคลื่อนย้ายเงินตราที่ผิดกฎหมาย และผลการประชุมเกี่ยวกับการออกใบเรียกเก็บราคาสินค้าที่เป็นเท็จ (mis-invoicing) ที่จัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่องค์การศุลกากรโลก เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑ ๕) ความร่วมมือระหว่างศุลกากรและสรรพากร ข้อท้ายทาย และโอกาส จากมุมมองของศุลกากร ๖) การวัดผลการปฏิบัติการ (performance measurement) รวมทั้งการหารือระหว่าง WCO และหน่วยงานระดับประเทศ/ระดับระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ตรวจวัดการค้าและพิธีการศุลกากร

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้อภิปรายและรับรองเครื่องมือที่สำคัญต่าง ๆ เช่น Framework of Standards on Cross-Border E-Commerce เพื่อช่วยเหลือสมาชิก WCO ในการพัฒนากรอบยุทธศาสตร์และกรอบปฏิบัติการสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสมาชิกที่ต้องการยกระดับกรอบที่มีอยู่เพื่อตอบสนองต่อรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ และรูปแบบธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ประชุมฯ ยังได้อนุมัติการจัดตั้ง Working Group on a Comprehensive Review of the International Convention on the Simplification and Harmonization of Customs Procedures (อนุสัญญาเกียวโตฉบับปรับปรุง หรือ RKC) เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญในการทำให้อนุสัญญาฯ ยังคงเป็นพิมพ์เขียวสำหรับพิธีการศุลกากรที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพในศตวรรษที่ ๒๑

สมาชิก WCO ยอมรับความสำคัญของการเสริมสร้างขีดความสามารถ การค้นคว้าวิจัย และการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อมูลข่าวกรอง เน้นย้ำความจำเป็นในการยกระดับความร่วมมือกับผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และตอกย้ำความสำคัญในการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลในการบริหารจัดการความเสี่ยง

ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมฯ มีมติเลือก Mr. Kunio Mikuriya เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ WCO อีกวาระหนึ่งเป็นระยะเวลา ๕ ปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๒

นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสร้างความร่วมมือทางศุลกากรกับศุลกากรสิงคโปร์ ศุลกากรเปรู และศุลกากรออสเตรีย รวมทั้งหารือความร่วมมือทวิภาคีกับศุลกากรกัมพูชาด้วย







 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 6 กรกฎาคม 2561 14:42:20
จำนวนผู้เข้าชม : 956
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์
Dreve du Rembucher 89 1170 Brussels, Belgium
หมายเลขโทรศัพท์ : +32-2-660-5759, 5835
อีเมล์ : thaicustoms@skynet.be

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของสำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์
ลิขสิทธิ์ ? 2015 สำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์ สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ